วันที่ 21 พฤศจิ…
สวพ.ร่วมประชุม “ทิศทางการขับเคลื่อนงานทรัพย์สินทางปัญญาในสถาบันอุดมศึกษาตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564” และสรุปสาระสำคัญ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม 2564
วันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม 2566 เวลา 08.30-16.30 น. ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) มอบหมายให้ ผศ.ดร.นรา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา เข้าร่วมประชุมสัมมนาผู้บริหารระดับสูง ในหัวข้อ “ทิศทางการขับเคลื่อนงานทรัพย์สินทางปัญญาในสถาบันอุดมศึกษา ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564” โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สถาบันิุดมศึกษากับการนำผลวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศ” ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน (รัชดา) กรุงเทพมหานคร
ในการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาได้มีความเข้าใจและตระหนักในการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนที่สอดคล้องเหมาะสมตามบริบทของกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงาวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 โดยการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากการให้ทุนของหน่วยงานของรัฐ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศส่วนรวมต่อไป
สรุปสาระสำคัญพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2564
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต และที่ผ่านมารัฐได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่โดยที่ผู้รับทุนหรือนักวิจัยไม่สามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมได้ด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมายและกฎระเบียบของภาครัฐ จึงไม่มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
สรุปสาระสำคัญ
1) เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากการให้ทุนของหน่วยงานของรัฐ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศส่วนรวม
2) ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
3) ให้ใช้บังคับแก่การให้ทุนของหน่วยงานของรัฐ ที่มีวัตถุประสงค์ หรือหน้าที่และอำนาจในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม
4) มิให้ใช้บังคับแก่
(1) การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานตามหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 3
(2) คนต่างด้าวซึ่งไม่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย
(3) การวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธยุทโธปกรณ์ เทคโนโลยีทางทหาร หรือการป้องกันประเทศ เฉพาะเพื่อการใช้ประโยชน์ทางการทหารหรือความมั่นคงของรัฐ
(4) การวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชาติหรือประชาชนชาวไทย โดยรวมหรือจะต้องใช้เป็นพื้นฐานสำคัญของการวิจัยอื่น ซึ่งไม่สมควรให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นของบุคคลใดหรือองค์กรใดเป็นการเฉพาะ
(5) หน่วยงานของรัฐหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดหรือการวิจัยและนวัตกรรมประเภทหนึ่งประเภทใด
– ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระราชบัญญัตินี้ – ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. 2566
สาระสำคัญของระเบียบร่วมลงทุน ได้กำหนดวัตถุประสงค์การร่วมทุนเพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ได้แก่
1) เพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ เชิงสังคม หรือเชิงสาธารณประโยชน์
2) เพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน
3) เพื่อสร้างธุรกิจฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรมรายใหม่
ลักษณะโครงการร่วมลงทุน ครอบคลุมโครงการที่นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีความพร้อมไปใช้ดำเนินการ หรือเป็นโครงการที่มีอยู่แล้วและนำไปศึกษาต่อยอด หรือนำไปขยายผลให้เกิดการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง
สำหรับรูปแบบการร่วมลงทุน ระบุว่า หน่วยงานเจ้าของโครงการร่วมลงทุน สามารถร่วมลงทุนกับเอกชน ประกอบด้วย
1) จัดตั้งบริษัทร่วมทุนที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน 2) จัดตั้งนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุน (Holding Company) หรือ 3) จัดตั้งนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุนใน ‘วิสาหกิจเริ่มต้น’ หรือ สตาร์ทอัพ (Startup) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ได้
2) ใช้วิธีการเฉพาะเจาะจงโดยหน่วยงานเจ้าของโครงการเชิญชวนเฉพาะเอกชน ซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดรายใดรายหนึ่งให้เข้ายื่นข้อเสนอ ทั้งนี้ ระเบียบดังกล่าว ยังกำหนดว่าเพื่อให้การดำเนินการจัดตั้งและดำเนินงานของบริษัทร่วมทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีโอกาสประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจในอนาคต หรือหน่วยงานเจ้าของโครงการอาจดำเนินการเองได้